มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีร่วมกับภาคีเครือข่าย ปลูกผักแจกจ่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีร่วมกับภาคีเครือข่าย ปลูกผักแจกจ่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2563 เวลา 9.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ  คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เพื่อทำการเก็บเกี่ยวผลผลิต ในโครงการ 1 ไร่คลายวิกฤตฟื้นวิถีชีวิตชุมชนหลัง COVID-19 โดยมีนายภคพัส ส่งวัฒนายุทธ นายอำเภอบ้านลาด หัวหน้าส่วนราชการและประชาชนจิตอาสาในพื้นที่เข้าร่วม

การจัดโครงการในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยสำนักงานโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นตามศาสตร์พระราชา ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดขึ้น ประกอบด้วย อำเภอบ้านลาด ศพก.อำเภอบ้านลาด สำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านลาด องค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำรงค์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถ้ำรงค์ ในการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อร่วมกันช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลง แต่ยังคงต้องใช้อาหารในดำรงชีวิต มหาวิทยาลัยฯ จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดโครงการในครั้งนี้ขึ้น ซึ่ง ศพก.อำเภอบ้านลาด เป็น 1 ใน 5 ชุมชน ที่อยู่ในโครงการ 1 ไร่คลายวิกฤตฟื้นวิถีชีวิตชุมชนหลัง COVID-19

การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ การบรรเทาโดยการผลิตพืชเพื่อใช้แจกจ่ายให้กับผู้ที่ได้ผลกระทบ การฟื้นฟู โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีหลักความรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ โดยมี ศพก. อำเภอบ้านลาด เป็นต้นแบบในการผลิตอาหารปลอดภัย และการพัฒนา โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้ร่วมกับชุมชนในการยกระดับสู่การเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยต้นแบบของชุมชนอำเภอบ้านลาด

สำหรับผักที่ทำการเก็บเกี่ยวในวันนี้ ประกอบด้วย ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง บวบและกระเพา น้ำหนักรวมกว่า 900 กิโลกรัม โดยจะนำไปแจกให้กับประชาชนผู้ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยในตำบลหนองโสน อำเภอเมืองเพชรบุรี จำนวน 200 ชุด อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตำบลหนองโสน จำนวน 100 ชุด อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตำบลถ้ำรงค์ จำนวน 70 ชุด ประชาชนเครือข่ายชุมชนไร่มะขาม จำนวน 100 ชุด และมอบให้กับนายอำเภอบ้านลาดเพื่อนำไปใส่ไว้ในตู้ปันสุขตามจุดต่างๆ จำนวน 100 ชุด

นายบรรพต มามาก ผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า “ก่อนหน้าที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จะเข้ามาจัดโครงการ 1 ไร่คลายวิกฤต ฟื้นชีวิตหลังโควิด ก็ได้เข้ามาจัดกิจกรรมต่อยอดความรู้ให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง และในครั้งนี้ก็ยังคงเลือกใช้พื้นที่ในการจัดทำโครงการ โดยชาวบ้านก็ยินดีให้ความร่วมมือในการลงแรงทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาที่ดินในการทำงานร่วมกัน ผู้รับจึงมั่นใจได้ว่าผลผลิตที่ได้มีความปลอดภัย มีคุณภาพ และเรายังมีนวัตกรรมที่แทรกไปเพื่อเผยแพร่สู่ผู้บริโภค นอกจากนี้ยังได้ความปลอดภัยและยังได้นวัตกรรม ท้ายนีี้ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่ร่วมมือกันตั้งแต่แรกจนถึงวันนี้ที่สถานที่แห่งนี้ประสบผลสำเร็จ และพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า”

นายภคพัส ส่งวัฒนายุทธ นายอำเภอบ้านลาด กล่าวว่า “กิจกรรมในวันนี้ทางอำเภอบ้านลาดได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและชุมชนไร่มะขาม มาทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตในโครงการ 1 ไร่ คลายวิกฤตฟื้นชีวิตชุมชนหลัง COVID-19 โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้อง ที่ได้รับประสบผลกระทบจาก COVID-19 เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย นอกจากพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ในการปลูกผักให้กับชุมชนแล้ว ยังจะใช้เป็นแปลงเกษตรตัวอย่างให้กับพี่น้องเกษตรกร สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงมหาดไทยในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร กระผมต้องขอขอบพระคุณทางมหาลัยราชภัฏเพชรบุรีและภาคส่วนต่างๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นอกจากจะมีนโยบายในการช่วยเหลือนักศึกษาในเรื่องของการเรียนแล้ว ยังได้มีนโยบายในการช่วยเหลือประชาชน จึงได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบจัดทำโครงการที่เป็นการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งในส่วนของจังหวัดเพชรบุรีนั้นมีพื้นที่ๆ มีความเหมาะสมหลายแห่ง เช่นเดียวกับชุมชนไร่มะขามแห่งนี้ ที่มีความพร้อมในเรื่องของต้นทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว บวกกับความเข้มแข็งของคนในชุมชนที่ร่วมแรงร่วมใจกัน เพียงแต่มหาวิทยาลัยฯ เข้าไปดำเนินการในการต่อยอดความรู้ที่มีอยู่เดิมเท่านั้น ซึ่งการจัดโครงการในครั้งนี้เป็นการน้อมนำแนวคิดหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ เพื่อลดต้นทุนในการทำการเกษตร ชาวบ้านจะได้ลดรายจ่าย มีรายรับเพิ่มขึ้น ซึ่งการปลูกผักจะช่วยเหลือชุมชนในเรื่องของอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี คือ ภายในปี 2564 จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านอาหาร การท่องเที่ยวและสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้วยศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ยังคงมุ่งมั่นในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และที่สำคัญการจัดทำโครงการในครั้งนี้ นอกจากจะได้ความรักความสามัคคีที่เกิดขึ้นในชุมชนแล้ว คนในชุมชนยังได้บริโภคพืชผักที่ปลอดภัย ไร้สารเคมีด้วย”

#

รายงานโดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี