ราชภัฏสัญลักษณ์
ราชภัฏสัญลักษณ์ : ได้หลอมรวมมาจากสัญลักษณ์เดิมของวิทยาลัยครูจำนวน 38 สถาบัน ให้คงเหลือความเป็นหนึ่งในรูปแบบสัญลักษณ์ใหม่เพียงรูปแบบเดียว โดยคำนึงถึงประโยชน์ในการนำไปใช้เพื่อการสื่อความหมายง่ายต่อการจดจำ มีจุดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสถาบัน
การกำหนดรูปแบบสัญลักษณ์ของสถาบันราชภัฏ
รูปแบบที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ทรงให้กำเนิดสถาบันราชภัฏ
รูปแบบที่เป็นกลาง เกี่ยวข้องกับถิ่นที่ตั้ง ธรรมชาติและความสอดคล้องกับชื่อสถาบันราชภัฏที่ได้รับพระราชทาน

สีน้ำเงิน
แทนค่า สถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทาน “สถาบันราชภัฏ”
สีเขียว
แทนค่า แหล่งที่ตั้งของสถาบันราชภัฏ 38 แห่ง ในแหล่งธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
สีทอง
แทนค่า ความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
สีส้ม
แทนค่า ความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ก้าวไกลใน 38 สถาบัน
สีขาว
แทนค่า ความคิดอันบริสุทธิ์ ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
การพัฒนารูปแบบตัวอักษร
ของราชภัฏสัญลักษณ์
แสดงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจนในกรณีการปรับเปลี่ยนแผนการศึกษาของชาติที่เด่นชัด โดยพัฒนาระบบการศึกษาที่เริ่มจากบ้าน วัด วัง และโรงเรียนตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดสำคัญเมื่อทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทรงใช้กระบวนการทางปัญญาแก้ปัญหาของระบบการพัฒนาประเทศ ตัวอักษรจึงเป็น ส่วนประกอบสำคัญในการจัดวางรูปแบบตามสัญลักษณ์ ปรับตัวอักษรไทยให้มีโครงสร้างในลักษณะใกล้เคียงระบบสากล คือใช้อักษรโรมันแบบ Gothic หรือตัวอักษรอังกฤษแบบ Old English ตัวอักษรล้านนาและตัวอักษรขอม พัฒนาประกอบเข้าด้วยกันเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์รูปแบบตัวอักษรให้สามารถแทนค่าความรู้สึกในการสื่อสารร่วมสมัยและแสดงความสูงส่งแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์
การพัฒนารูปแบบตัวอักษร
ของราชภัฏสัญลักษณ์
อัญเชิญดวงตราพระราชลัญจกร ประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันโดยมีอุณาโลมสีทองขอบสีส้มประดับบนเศวตฉัตร 3 ชั้นล่าง ด้านล่างของเศวตฉัตร ในวงกลมเปลี่ยนจักรซึ่งหมุนรอบอุณาโลมเดิมเป็นลายไทยสีทองบนพื้นเขียว พร้อมทั้งขอพระราชทานพระปริมาภิไธยย่อ “ภปร” สีทอง ขอบสีส้มประดับในวงกลมซึ่งมีพื้นสีน้ำเงินเส้นขอบสีขาว เปลวของดวงตราลัญจกรสีทองขอบสีส้มสามสิบหกเปลวอยู่เหนือพื้นที่ภายในวงรีสีน้ำเงิน วงรีนอกของดวงตราด้านบนเป็นชื่อเดิมภาษาไทยของสถาบันราชภัฏทั้ง 38 แห่ง รวมทั้งสภาสถาบันราชภัฏ และมีลายประจำยามปิดหน้าและท้ายตัวอักษร ด้านล่างเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ตัวอักษรสีทองบนพื้นเขียวและล้อมวงรีทั้งด้านในและด้านนอกด้วยเส้นสีทองทับ
