นำเสนอรายงานความก้าวหน้าแผนงานวิจัย ปีที่ 1 และพัฒนาข้อเสนอ Proposal ปีที่ 2

นำเสนอรายงานความก้าวหน้าแผนงานวิจัย ปีที่ 1 และพัฒนาข้อเสนอ Proposal ปีที่ 2 ภายใต้แผนงานวิจัย “RAINS for Western Food Valley  2563”

             ผู้ช่วยศาสตราจาารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมนำเสนอรายงานความก้าวหน้าแผนงานวิจัย ปีที่ 1 และพัฒนาข้อเสนอ Proposal ปีที่ 2 แผนงานวิจัย “RAINS for Western Food Valley  2563” ที่สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 22 – 23 กันยายน 2563 ณ โรงแรมเมธาวลัย ชะอำ  อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี

             อาจารย์ ดร.ทวิพัฒน์ วิจิตรปัญญารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าาว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมและเครือข่าย ได้รับอนุมัติทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ให้ดำเนินโครงการวิจัย แผนงานวิจัย “RAINS for Western Food Valley 2563” โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมเป็นหัวหน้าโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีและมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยมีระยะเวลาดำเนินงานวิจัย 3 ปี คือ ปี 2563 – 2565 ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 1 ปีแล้ว มหาวิทยาลัยเครือข่ายจึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมนำเสนอรายงานความก้าวหน้าแผนงานวิจัย ปีที่ 1 และพัฒนาข้อเสนอ Proposal ปีที่ 2 แผนงานวิจัย “RAINS for Western Food Valley 2563” ขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรายงานความก้าวหน้าแผนงานวิจัยปีที่ 1 ต่อ สวก. ผู้ให้ทุน และร่วมกันพัฒนาข้อเสนอ Proposal เพื่อขอทุนสนับสนุนในปีที่ 2 โดยมีการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าแผนงานวิจัย (งวดที่ 1) ปีที่ 1 และปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะจากคุณกนกวรรณ ขับนบ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สวก.

            นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานโครงการ Food Valley  โดยรองศาสตราจารย์ ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หัวหน้าโครงการ Food Valley  ที่มีเป้าหมายในการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคเอกชน ภาครัฐและเครือข่ายมหาวิทยาลัย ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยเน้น 2 กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร คือ  Healthy Food และ Cultural Food โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากเนื้อสัตว์ พืชและอาหารที่เป็นภูมิปัญญาในพื้นที่ ภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มศักยภาพการแข่งขันและลดการนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 10 ผลิตภัณฑ์

            สำหรับโครงการย่อยที่ได้รับทุนสนับสนุนตามแผนงานในปีที่ 1 นั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 5 โครงการ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพและกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ซุปหน่อไม้กึ่งสำเร็จรูป มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ การปรับปรุงประสิทธิภาพการคืนตัวของผลิตภัณฑ์เส้นบุกแห้งจากภูมิปัญญาชาวกะเหรี่ยงโผล่ว  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาขนมหม้อแกงสุขภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมเค้กหม้อแกงกล้วยหอมอบกรอบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุกกี้ หม้อแกงเสริมใยอาหารประเภทพรีไบโอติก

#

รายงานโดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี