มรภ.เพชรบุรี ร่วมลงนาม MOU กับกระทรวงวัฒนธรรม

 

มรภ.เพชรบุรี ร่วมลงนาม MOU กับกระทรวงวัฒนธรรม ในการสืบสานและอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น

        เมื่อช่วงเช้าวันที่ 25 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมราชภัฏสภา ชั้น 9 อาคารวิทยาภิรมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ผ่านระบบ Video Conference ระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ เรื่อง ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

       การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิดในการฟื้นฟู สนับสนุนและร่วมมือกับศูนย์/สถาบันศิลปะและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรม เช่น การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม การวิจัยและการจัดการความรู้ด้านวัฒนธรรม การเผยแพร่องค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมในการดำเนินงานทางวิชาการ การเผยแพร่ ถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยมีสถาบันการศึกษาและนักศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน

     สำหรับประเด็นสำคัญที่มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีความเชื่อมโยง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ นโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์กระทรวงวัฒนธรรม และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ไว้เป็น 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 การสืบสาน รักษา และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ประเด็นที่ 2 การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมของทุกภาคส่วน ประเด็นที่ 3 การพัฒนาองค์กรและการบริการทางวัฒนธรรม
โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้ง 38 แห่ง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จะร่วมกันดําเนินการใน 6 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

  1. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทาง วัฒนธรรม โดยเป็นการความร่วมมือซึ่งกันและกันในส่วนที่เป็นภารกิจงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ๓๘ แห่ง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

    2. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงาน โดยมุ่งเน้นการดําเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายของ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ๓๘ แห่ง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในการจัดโครงการ/กิจกรรม ด้านวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่เป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม

    3. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงาน การเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมไปถึงงานวิจัย ที่เกี่ยวงานวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

    4. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงาน การจัดทําข้อมูลเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ที่มีอยู่ในท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ และนําไปสู่การขึ้นทะเบียน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเสนอต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 ซึ่งจําแนกออกเป็น 5 สาขา คือ วรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ศิลปะการแสดง แนวทางปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณีและเทศกาล ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล งานช่างฝีมือดั้งเดิม การเล่นพื้นบ้าน การกีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว และลักษณะอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

    5. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการบริการทางวัฒนธรรม ในส่วนของพื้นที่ทางวัฒนธรรม แหล่งเรียนรู้ เพื่อใช้ดําเนินงานโครงการ/กิจกรรมต่างๆ ภายใต้การบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

    6. ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการประชาสัมพันธ์มหกรรม เทศกาล งานประเพณี โครงการ/กิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้านวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38แห่ง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม

      ทั้งนี้ แผนงานดังกล่าวข้างต้นจะเริ่มดำเนินการทันทีเมื่อประเทศไทย ผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เพื่อให้โครงการต่างๆ สร้างงาน สร้างอาชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่ชุมชนท้องถิ่น ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

#

รายงานโดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

.      

.