มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ปรับพื้นที่ทำศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาหาร สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่นักศึกษาและชุมชนใกล้เคียง ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามโครงการศาสตร์พระราชา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยฯ มีนโยบายในการช่วยเหลือ เยียวยานักศึกษาและชุมชนใกล้เคียง ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยฯ ในด้านการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ รวมถึงการบริการวิชาการให้กับชุมชน ซึ่งในขณะนี้สิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือเรื่องการสร้างแหล่งอาหาร จึงได้มีการดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาให้มีรายได้จากการจ้างงานในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ฯ โดยสามารถลดรายจ่ายของนักศึกษาและครอบครัวได้ ซึ่งต่อไปจะพัฒนาให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เป็นพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัยฯ ครอบคลุม 2 จังหวัด คือจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานเบื้องต้น แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ การปลูกพืชระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว โดยหวังว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่นักศึกษา บุคลากรและชุมชนต่อไป”
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า “กิจกรรมดังกล่าวมีคณาจารย์จากคณะเทคโนโลยีการเกษตรเป็นผู้ดำเนินการหลัก และร่วมกับอาจารย์จากคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะวิทยาการจัดการ ที่ทำเรื่องการส่งเสริมการตลาด การบัญชี การบริหารธุรกิจ และการเปิดตลาดออนไลน์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการแปรรูปอาหาร การสร้างมูลค่าเพิ่มของพืชสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้ศูนย์การเรียนรู้ฯ มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำออกจำหน่ายและจำหน่ายไปแล้ว เช่น ไข่ไก่ หญ้าหวาน พันธุ์หญ้าเนเปียร์ ปลานิล ปลาสวายและกบ เป็นต้น”
#
รายงานโดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี