สัมภาษณ์ผู้สมัครโครงการ อว.สร้างงานระยะที่ 2

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี รับนโยบายกระทรวง อว. สัมภาษณ์งานผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19

               ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ดำเนินโครงการ อว.สร้างงานระยะที่ 2 ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID – 19) โดยร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานในสังกัด จำนวน 70 แห่ง รวม 32,718 อัตรา ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ อัตราค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2563 เพื่อสร้างงานรองรับผู้ได้รับผลกระทบ ส่งเสริมการพัฒนาทักษะการทำงานในด้านต่าง ๆ

              มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ภายใต้การบริหารงานโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 จำนวน 190 อัตรา ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดสมุทรสงคราม การจ้างงานเป็นลักษณะการลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลเบื้องต้นที่เป็นบริบทของชุมชน ประชากร การประกอบอาชีพ ศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ในชุมชน โดยพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี มีชุมชนที่ต้องลงไปเก็บข้อมูล 31 ชุมชน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2 ชุมชน และจังหวัดสมุทรสงคราม 1 ชุมชน

                ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ลงพื้นที่พัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID – 19 มหาวิทยาลัยฯ ได้วางแผนในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมไปจนถึงวิธีการบริหารจัดการหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลง มีการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ การจ้างงานนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง และในขณะนี้มหาวิทยาลัยฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในการจ้างงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ได้มีโครงการ 1 คณะ 1 อำเภอ ที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ให้ผู้ที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชนเพื่ือนำไปใช้ประโยชน์ในระยะยาว และผู้ที่มีความรู้ในด้านการเกษตร ก็จะนำไปทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์ที่มหาวิทยาลัยฯ ได้เข้าไปสนับสนุน ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการก็จะได้รับความรู้และวิธีการดำเนินงาน ที่จะสามารถนำไปใช้ต่อยอดสร้างอาชีพให้กับตนเองหลังสิ้นสุดการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเกษตรอินทรีย์ การแปรรูปอาหาร นอกจากนี้ยังมีการตลาดออนไลน์ มีการเขียนแอพพลิเคชั่นที่จะใช้เป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้า โดยจะนำรูปแบบทั้งหมดมารวบรวมให้เป็นเรื่องเดียวกัน ขณะที่ข้อมูลที่เก็บได้จากการลงพื้นที่ ผู้เข้าร่วมโครงการก็จะส่งมาให้ทางมหาวิทยาลัยฯ รวบรวมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในระยะต่อไป”

              ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “หลังจากที่ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสอบสัมภาษณ์ในวันที่ 29 มิถุนายน นี้ แล้ว จะมีการปฐมนิเทศเพื่อพัฒนาในการจัดเก็บระบบข้อมูล กระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์และกระบวนการในการทำงานร่วมกับชุมชนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานและบูรณาการในการทำงานร่วมกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะมีทักษะ มีกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งตลอดระยะเวลาการจ้างงานจะมีคณะทำงานคอยติดตามและช่วยเหลือ เพื่อให้การทำงานเป็นระบบและเกิดความชัดเจน การทำงานจะมีการสรุปงานวันต่อวันเพื่อติดตามความก้าวหน้า หากพบว่ามีอุปสรรคในการดำเนินงานจะมีคณาจารย์ลงไปช่วยเหลือ และหลังจากการลงพื้นที่ 1 เดือน จะมีการสังเคราะห์งานพร้อมอบรมให้ความรู้เพิ่มเติม นอกจากนี้เมื่อการรวบรวมข้อมูลเสร็จสิ้นจะมีการจัดทำ เวทีประชาคมทุกชุมชนเพื่อรับฟังและร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาวางแผนร่วมกัน”

           มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นอกจากจะเป็นสถานศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นสถานศึกษาที่คอยให้การสนับสนุนประชาชนในเขตพื้นที่บริการวิชาการที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ภายใต้การใช้ชีวิตแบบพอเพียง

#
รายงานโดย งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี