เปิดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้ความต้องการของชุมชน

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เปิดเวทีระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตภายใต้ความต้องการของชุมชน

           เมื่อช่วงเช้าวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ณ ห้องประชุมณัทกวี ศิริรัตน์ ชั้น 3 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานเปิดเวทีระดมความคิดเห็นในการพัฒนาจังหวัดเพชรบุรี ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ที่สำนักงานยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นตามศาสตร์พระราชา นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้จัดขึ้น โดยมีผู้แทนจากส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนตัวแทนกลุ่มเกษตรกร เข้าร่วม

            การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เป็นการรับฟังปัญหาและความต้องการของชุนชนเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการเขียนโครงการขออนุมัติงบประมาณสนับสนุน ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ดำเนินโครง 1 คณะ 1 อำเภอ และการดำเนินงานภายใต้กิจกรรมโครงการศาสตร์พระราชา ดังนั้น การพัฒนาท้องถิ่นที่แท้จริง จะต้องเกิดขึ้นจากการรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนหรือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้มาซึ่งปัญหาและความต้องการตลอดจนแนวทางในการพัฒนาชุมชนที่ผ่านการร่วมกันคิด วิเคราะห์ว่าชุมชนต้องการให้มหาวิทยาลัยฯ เข้าไปช่วยเหลือหรือพัฒนาในด้านใดบ้าง ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์ของชุมชนได้อย่างตรงจุด

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “การระดมความคิดเห็นในวันนี้่ มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การพัฒนาจังหวัดเพชรบุรี ด้วยการนำทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งด้านกายภาพ ด้านทรัพยากรทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมถึงอาหารและการเกษตรมาแปรรูป โดยความคิดเห็นในครั้งนี้จะพัฒาเป็นชุดโครงการที่ใช้การยกระดับการพัฒนาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและด้านการศึกษา ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยฯ ได้สร้างเครือข่ายครอบคลุมทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดเพชรบุรี มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการเพื่อดำเนินงานร่วมกัน เช่น จังหวัดเพชรบุรีมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์กระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆ ถ้าเราจะพัฒนาเกษตรอินทรีย์ หรืออาหารปลอดภัย ก็จะได้มาวิเคราะห์และจัดทำแผนร่วมกัน เพื่อถ่ายทอด ให้ความรู้แลกเปลี่ยนกับเกษตรกร รวมถึงอาหารแปรรูป ทั้งอาหารทางด้านการเกษตรและอาหารทะเลให้ได้คุณภาพ ถูกสุขอนามัย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า นอกจากนี้จังหวัดเพชรบุรียังมีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น ท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนที่บ้านสามเรือน อำเภอหนองหญ้าปล้อง ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยฯ ได้ลงพื้นที่ทำวิจัย เราสามารถนำมาเชื่อมโยงด้วยการใช้ระบบ IT เข้ามาพัฒนาร่วมกัน”

           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวต่อว่า “ในส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นอีก 1 พื้นที่บริการวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยฯ ก็ได้ดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยมอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภวานี เผือกบัวขาว ผู้ช่วยอธิการบดีฯ เป็นผู้ดูแลพืื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยลงไปร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการและชุมชนต่างๆ รับฟังปัญหาและความต้องการของชุมชน เพื่อให้ได้ประเด็นการพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในภาพรวม”

             ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการระดมความคิดเห็นแล้ว จะมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากนั้นจะนำไปวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินงาน เพื่อใช้แก้ไขปัญหาและความต้องการของชุมชนให้ตรงจุด โดยมีเป้าหมายหลักคือการมีคุณภาพชีวิตและความเป็อนยู่ที่ดีขึ้นให้กับประชาชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

#

รายงานโดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี