ศูนย์เรียนรู้การเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ความเป็นมาของการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ

          สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำรงชีวิตของประชาชน สภาพความเป็นอยู่ เศรษฐกิจและสังคม ภาคธุรกิจมีการหยุดจ้างงาน ลดเวลาในการทำงาน ทำให้ประชาชนว่างงาน ขาดรายได้ บางส่วนมีรายได้ลดลง ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย แม้ในภาคการเกษตร สินค้าเกษตรไม่สามารถส่งไปจำหน่ายได้ เนื่องจากการปิดตลาด และระบบขนส่งหยุดชะงัก ผู้บริโภคไม่สามารถบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพได้ดังเดิม ทั้งในแง่ของรายได้ของประชาชนที่ลดลง และสินค้าเกษตรที่หายากขึ้น การแก้ปัญหาความเป็นอยู่โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถช่วยแก้ปัญหาและลดกระทบที่เกิดจากสถานการณ์นี้ได้

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพ ร่วมมือกันทำงานในเชิงรุก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆไปสู่ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้การเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี” ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรสำคัญโดยการใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมต่างๆ อาทิ พืชผักอายุสั้น พืชโตไว เห็ด ไข่ไก่ ปลา กุ้ง รวมไปถึงหญ้าอาหารสัตว์ และมีการแปรรูปผลผลิตที่ได้เพื่อการแจกจ่าย จัดจำหน่าย และสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้น ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงภาวะวิกฤติของคนในท้องถิ่น อีกทั้งเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรม เป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาและสามารถสร้างรายได้ให้กับนักศึกษาระหว่างเรียนด้วย

ศูนย์เรียนรู้ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นเพื่อ

  1. เป็นแหล่งผลิตอาหาร สำหรับประชาชน นักศึกษา และบุคลากร

  2. เป็นแหล่งวัตถุดิบและปัจจัยในการผลิตสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง

  3. ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19

  4. เพื่อเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพสำหรับนักศึกษา

  5. เป็นสถานที่สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน

 

พื้นที่ของศูนย์เรียนรู้ฯ ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยมีขนาดพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ (รวมระบบชลประทาน) มีการจัดสรรพื้นที่ตามกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายใต้ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก คือ

กิจกรรมที่ 1 ปรับปรุงพื้นที่และจัดการระบบน้ำ

กิจกรรมที่ 2 ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 9 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่

ฐานที่ 1การผลิตพืชโตไวและพืชสมุนไพร

ฐานที่ 2 ไมโครกรีน

ฐานที่ 3 ไก่ไข่เพื่อสุขภาพ

ฐานที่ 4 การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ

ฐานที่ 5 ผักยกโต๊ะกางมุ้ง

ฐานที่ 6 การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

ฐานที่ 7 การผลิตพืชอาหารสัตว์

ฐานที่ 8 เทคโนโลยีการผลิตเห็ด

ฐานที่ 9 แปรรูปผลิตภัณฑ์

กิจกรรมที่ 3 ต้นแบบอาหารปลอดภัยตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (สมาร์ทฟาร์มเดิม) 3 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่

ฐานที่ 10 แปลงไม้ผลเศรษฐกิจเมืองเพชร

ฐานที่ 11 สาหร่ายทะเลสุขภาพในโรงเรือนประหยัดพลังงาน

ฐานที่ 12 การผลิตไม้ประดับและอนุบาลพรรณไม้

ภายใต้ความร่วมมือในการทำงานแบบบูรณาการของคณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาการจัดการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะพยาบาลศาสตร์ และหน่วยงานอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกในการจัดทำพื้นที่ต้นแบบการผลิตพืชอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ตามมาตรฐานของกรมพัฒนาที่ดิน มาตรฐานของ SCE-PGS และเกษตรทฤษฎีใหม่  ดังภาพ

kaset

             ศูนย์เรียนรู้ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้มีการกำหนดแผนการดำเนินงานในช่วงแรก 3 เดือน โดยใช้งบประมาณเริ่มต้นจากทางมหาวิทยาลัย จากนั้นจะดำเนินการโดยใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เกิดขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตสำหรับการบริหารจัดการโครงการ

             ในด้านการจ้างงาน ศูนย์เรียนรู้ฯ มีการจ้างงานบุคลากร ได้แก่บัณฑิตอาสา 3 คน และนักศึกษาจ้างงาน จำนวน 1,700 ชั่วโมงต่อเดือน นอกจากนี้ยังให้นักศึกษาเข้ามาช่วยดำเนินงาน และฝึกทักษะ/ประสบการณ์วิชาชีพในศาสตร์ต่าง ๆ

             แผนการตลาด มีการจัดทำตลาดออนไลน์ โดยวางแผนด้านการตลาดร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ และประชาสัมพันธ์ผ่านงานสื่อสารองค์กร

             สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต พื้นที่ดำเนินการในส่วนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการยื่นขอการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เช่น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มาตรฐานฟาร์มสัตว์ ฟาร์มสัตว์น้ำ สามารถเปิดเป็นแหล่งศึกษาดูงาน แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยเชื่อมโยงกับหน่วงงาน และสถานที่ท่องเที่ยวภายนอก เช่น โครงการพระราชดำริ ได้