การสัมมนาและจัดแสดงนิทรรศการ RAINS for Western Food Valley 2563

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เข้าร่วมการสัมมนา (Webinar) และจัดแสดงนิทรรศการ RAINS for Western Food Valley 2563 
การพัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กในภูมิภาคตะวันตก

วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ  กลิ่นงาม รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เข้าร่วมพิธีเปิดการสัมมนา (Webinar) และจัดแสดงนิทรรศการ RAINS for Western Food Valley 2563 การพัฒนานวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กในภูมิภาคตะวันตก ร่วมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเครือข่ายภูมิภาคตะวันตก ได้แก่ อาจารย์ ดร.วิรัตน์ ปิ่นแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม  อาจารย์ ดร.ณรงค์เดช รัตนานนท์เสถียร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี  ได้รับเกียรติจาก นางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร เป็นประธานในพิธีเปิด  และกล่าวถึงภาพรวมของแผนงานวิจัยโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรศักดิ์  อาลัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หัวหน้าแผนงานวิจัย ผ่านระบบโปรแกรม ZOOM  

แผนงานวิจัย “RAINS for Western Food Valley” เป็นแผนงานวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค (Demand Driven) ในกลุ่มอาหารสุขภาพ (Healthy Food) และกลุ่มอาหารพื้นถิ่น (Cultural Food) โดยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ 3 ภาคส่วน (Tri Helix) ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค (Demand Driven) โดยเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และอาหารที่เป็นภูมิปัญญาในพื้นที่ (Area Based) ของภูมิภาคตะวันตก

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในฐานะมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งรสชาติ ทั้งเปรี้ยวจากมะนาว หวานจากน้ำตาลโตนด และเค็มจากเกลือทะเล และเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่หลากหลาย สะท้อนผ่านภาพอันตระการตาของทุ่งนาป่าตาล เทือกเขาและท้องทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องของขนมหวาน เพราะมีวัตถุดิบรสหวานที่ขึ้นชื่ออย่าง น้ำตาลโตนดและเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ปลูกต้นตาลและผลิตตาลโตนดมากที่สุดในประเทศไทย จึงได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งขนมหวาน สอดรับกับนโยบายมหาวิทยาลัยที่มีวิสัยทัศน์ในการที่จะเป็น มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านอาหาร การท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดเพชรบุรีที่จะเป็นเมืองเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และเมืองน่าอยู่ น่ากิน น่าเที่ยวระดับประเทศ สู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก โดยมหาวิทยาลัยมีเป้าประสงค์หลักในการเป็นองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยด้านอาหาร การท่องเที่ยว และการโรงแรม ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล  ผ่านรูปแบบการบริหารจัดการด้วยการบูรณาการศาสตร์แบบ Cluster (Food Tourism and Hospitality Cluster) ที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย มุ่งเน้นด้านอาหาร ด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม แบบครบวงจรตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างคณะ และหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัย สร้างสรรค์องค์ความรู้บนหลักของศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  มีนโยบายในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ที่ส่งเสริม สนับสนุน และสร้างเครือข่าย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักวิจัย สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้วยการบูรณาการ ให้ตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่เปลี่ยนแปลง และเกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ มุ่งสร้างเอกลักษณ์ด้านอาหารและการท่องเที่ยว ให้ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ  โดยมี โรงเรียนการอาหารนานาชาติเพชรบุรี ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต และสนับสนุนบุคลากร ผู้ประกอบการ หรือสถานประกอบการ  เพื่อมุ่งพัฒนา สร้างสรรค์ อาหาร และขนมหวานเมืองเพชร ให้เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ และสามารถเชื่อมโยงกับการบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน บนพื้นฐานของความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี

จากนโยบาย และวิสัยทัศน์ ดังกล่าว มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อน การพัฒนาอาหารวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีมาอย่างต่อเนื่อง โดยการสนับสนุนทุนวิจัยให้อาจารย์ และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างความโดดเด่นด้านอาหารและการท่องเที่ยว  มีการวิจัยเพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารและขนมหวานเมืองเพชร จากชุดโครงการวิจัยการศึกษาพื้นภูมิเพชรบุรี และจัดพิมพ์เป็นชุดหนังสือ โดยองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารและขนมเมืองเพชร อยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า “ภูมิปัญญา” นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของอาจารย์ และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ในประเด็นเกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่น ขนมหวานเมืองเพชร ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารและขนมต่าง ๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายใน และภายนอกของมหาวิทยาลัย มีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในเวทีต่างๆ มีการจดทรัพย์สินทางปัญญา และมีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีมีโอกาสเข้าร่วมดำเนินงานในแผนงานวิจัย “RAINS for Western Food Valley” ครั้งนี้  มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ที่เป็นเอกลักษณ์  โดดเด่นทางวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบุรี และภูมิภาคตะวันตก ให้มีความแปลกใหม่ ผสมผสานกับความเป็นภูมิปัญญาพื้นถิ่น ผ่านการใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สามารถเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายและส่งออกให้ผู้ประกอบการได้ โดยมีจุดเน้นความเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food) จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มอาหารพื้นถิ่น (Cultural Food) จำนวน 1 ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสิ้น 3 ผลิตภัณฑ์จาก 3 โครงการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ขนมหม้อแกงสุขภาพ ผลิตภัณฑ์คุกกี้หม้อแกงเสริมใยอาหารจากกากมะพร้าว  และผลิตภัณฑ์ขนมเค้กหม้อแกงกล้วยหอมอบกรอบ ได้รับงบประมาณสนับสนุนทั้งสิ้น 1,474,125 บาท (หนึ่งล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยยี่สิบห้าบาทถ้วน) โดยแต่ละผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่น และเอกลักษณ์ที่สำคัญ ดังนี้

กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy Food)

1.   ผลิตภัณฑ์ขนมหม้อแกงสุขภาพ หัวหน้าโครงการคือ อาจารย์ธนิดา ชาญชัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนมหวานบ้านห้วยโรง ผลิตภัณฑ์นี้มีความโดดเด่นที่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพซึ่งใช้พาลาทีน ซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) มีคุณสมบัติสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แทนน้ำตาลที่ใช้ในขนมหม้อแกงทั่วไป ร่วมกับการยืดอายุการเก็บรักษาด้วยการสเตอริไลซ์ในภาชนะบรรจุปิดสนิท ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานผลิตภัณฑ์ขนมหม้อแกงมากขึ้น

2.   ผลิตภัณฑ์คุกกี้หม้อแกงเสริมใยอาหารจากกากมะพร้าว หัวหน้าโครงการคือ อาจารย์ ดร.อัจฉริยะกูล  พวงเพ็ชร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับผู้ประกอบการบ้านเดือนขนมไทย ผลิตภัณฑ์นี้เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหม้อแกงที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีให้มีความแปลกใหม่ทันสมัย ในรูปแบบของคุกกี้ สร้างความโดดเด่นในเชิงสุขภาพด้วยส่วนผสมของกากมะพร้าวที่ได้จากกระบวนการคั้นกะทิที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีใยอาหารสูง

กลุ่มอาหารพื้นถิ่น (Cultural Food)

3.   ผลิตภัณฑ์ขนมเค้กหม้อแกงกล้วยหอมอบกรอบ หัวหน้าโครงการคือ อาจารย์ศจีมาศ  นันตสุคนธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ร่วมกับผู้ประกอบการบ้านเดือนขนมไทย ผลิตภัณฑ์นี้เป็นการพัฒนาขนมหม้อแกงรูปแบบใหม่ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น Phetchaburi Banana ที่เกิดจากการรวมเอกลักษณ์ของกินเมืองเพชรที่เป็นที่รู้จัก ทั้งขนมหม้อแกง และกล้วยหอม เข้าด้วยกัน เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่รับประทานง่าย มีรูปลักษณ์แปลกใหม่ และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น  

                 มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน “RAINS for Western Food Valley” ซึ่งเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจ และแสดงศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภูมิภาคตะวันตกให้เป็นที่ประจักษ์ เกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนเกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งทางด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านสังคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินงานในปีต่อๆ ไป เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภูมิภาคตะวันตกจะร่วมกันดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อแสดงศักยภาพด้านการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในภูมิภาคตะวันตกให้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ของแผนงาน และเกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นภูมิภาคตะวันตกอย่างเป็นรูปธรรม ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นได้ต่อไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

# กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี