ต่อยอดผ้าลาย “เพชรราชภัฏ” สู่ลายผ้า “สุวรรณวัชร์” ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเพชรบุรี

ต่อยอดผ้าลาย “เพชรราชภัฏ” สู่ลายผ้า “สุวรรณวัชร์” ผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเพชรบุรี

อาจารย์ ดร.ทวิพัฒน์ วิจิตรปัญญารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม รศ.ดร. กาญจนา บุญส่ง คณบดีคณะครุศาสตร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยสิงขรมะริดศึกษา อาจารย์ ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล เลขานุการศูนย์วิจัยสิงขรมะริดศึกษา และ ผศ.แสนประเสริฐ ปานเนียม อาจารย์สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เข้าร่วมประชุมพิจารณารับรองลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานในการประชุม

ในที่ประชุมมีมติใช้ลายภาพจากลายเสาศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ฯ เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดเพชรบุรี พร้อมตั้งชื่อตามที่มาว่า สุวรรณวัชร์ คำว่าสุวรรณ หมายถึงวัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร ส่วนวัชร์ มาจากคำว่าวัชร หมายถึงเพชร ซึ่งจังหวัดเพชรบุรีจะนำเสนอไปยังกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อประกาศเป็นลายผ้าของจังหวัดเพชรบุรี

รศ.ดร. กาญจนา บุญส่ง คณบดีคณะครุศาสตร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยสิงขรมะริดศึกษา เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี ได้เข้าไปศึกษาลวดลายและถอดแบบเสาศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม ที่มีเสาอยู่ 5 คู่ แต่ละคู่มีลวดลายเหมือนกัน ประกอบกับจังหวัดเพชรบุรีเป็นเมืองช่าง เป็นเมืองศิลปะ คนเพชรบุรี ส่วนใหญ่ให้ความสนใจเกี่ยวกับลวดลายต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามฝาผนังหรือลายเสาของวัด”

อาจารย์ ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล เลขานุการศูนย์วิจัยสิงขรมะริดศึกษา กล่าวว่า “ผ้าลายสุวรรณวัชร์เป็นการต่อยอดจากผ้าพิมพ์ลาย “เพชรราชภัฏ” เป็นงานวิจัยของศูนย์วิจัยสิงขรมะริดศึกษา ประกอบกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีมีพันธกิจหลักในการพัฒนาท้องถิ่น จึงต้องการให้ชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการถอดแบบลายโดยผู้ที่มีความชำนาญ และเริ่มมีการทอผ้าโดยกลุ่มไทยพวน ไทยทรงดำและกลุ่มทอผ้าดอนขุนห้วย โดยก่อนการทอผ้าลายสุวรรณวัชร์นั้นได้มีการอบรมช่างทอเพื่อให้ได้ลวดลายที่มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ และในอนาคตจะต่อยอด พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นของที่ระลึก แก้วกาแฟ เสื้อยืด ให้เหมาะลงตัวสำหรับคนรุ่นใหม่อีกด้วย

#กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี