นำเสนอโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น จ.ประจวบฯ ปี 2565

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ นำเสนอโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปีงบประมาณ 2565

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยฯ เข้าพบ ดร.เสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมหว้ากอ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำเสนอโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565  จำนวนทั้งหมด  6  โครงการ ประกอบด้วย

1. โครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกโกโก้ด้วยนวัตกรรมแบบครบวงจร (พื้นที่ชุมชนบ้านช้างแรก ตำบลช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

2.โครงการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มจากโกโก้สู่การค้าเชิงพาณิชย์ (พื้นที่ชุมชนบ้านช้างแรก ตำบลช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

3. โครงการพัฒนาและยกระดับการปลูกข้าวด้วยนวัตกรรมการเกษตรอัจฉริยะ (พื้นที่ชุมชนกลุ่มนาแปลงใหญ่ ตำบลช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

4.โครงการยกระดับศูนย์เรียนรู้มะพร้าวครบวงจรชุมชนเขาล้านสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (พื้นที่ชุมชนเขาล้าน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

5. โครงการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบรู้รักสามัคคีสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (พื้นที่ชุมชนเขาล้าน อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

6. โครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา (โรงเรียนเครือข่าย, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนกองทุนการศึกษา)

        หลังจากนั้นได้มีการแบ่งกลุ่ม Focus Group จัดทำแผนปฏิบัติการทำงานร่วมกัน โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มการศึกษา นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจนา  บุญส่ง คณบดีคณะครุศาสตร์ ได้นำเสนอโมเดลโรงเรียนพัฒนาตนเองได้อย่างมีคุณภาพ ได้มีการกำหนดโรงเรียนต้นแบบในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา จำนวน 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบางสะพานน้อยวิทยาคม โรงเรียนธนาคารออมสิน โรงเรียนบ้านพุน้อย และโรงเรียนห้วยไคร้ โดยทางศึกษาธิการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะร่วมทำบันทึกข้อตกลงทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ เพื่อดำเนินโครงการร่วมกัน ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นี้ ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

2. กลุ่มการเกษตร อาหาร และการท่องเที่ยว นำทีมโดย ผศ.ดร.กังสดาล สกุลพงษ์มาลี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นำเสนอโมเดลศูนย์มะพร้าวครบวงจรตำบลเขาล้าน การพัฒนาต้นแบบเครื่องบีบสกัดน้ำมันจากเมล็ดโกโก้ โมเดลกระบวนการผลิตโกโก้ และรูปแบบแปลงต้นแบบโกโก้ + ข้าว โดยนำมะพร้าว สับปะรดและน้ำนมดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแก้ไขปัญหาความยากจน เน้นเรื่อง BCG Model ส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ สร้างอัตลักษณ์แบรนด์ชุมชน ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าการเกษตรเพื่อการจำหน่ายอย่างยั่งยืน

            โดยหลังจากนี้ สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจะรวมรวมประเด็นสำคัญ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน การทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรของมหาวิทยาลัยกับชุมชนและสังคม  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันโดยกำหนดเป้าหมายให้กิจกรรมโครงการมีการบูรณาการกับการวิจัย นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์บูรณาการกับจังหวัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาร่วมกัน พัฒนาชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

# กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี