พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการนำเศษวัสดุมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิต นำเศษวัสดุจากมะพร้าวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

           ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ การพัฒนาท้องถิ่นมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมบุคลากรจากสถาบันวิจัยฯ และสำนักงานยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ลงพื้นที่ ต.แสงอรุณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามผลการดำเนินการงานโครงการยกระดับและพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ด้วยการใช้ประโยชน์จากมะพร้าวให้ได้ครบทุกส่วน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่มีอาชีพหลักคือการปลูกมะพร้าว แต่เกิดเศษวัสดุที่ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ คือเปลือกมะพร้าวและกะลามะพร้าว

          ดังนั้น สำนักงานยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นและสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม จึงได้จัดโครงการเพื่อการยกระดับและพัฒนาสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยใช้มะพร้าวเป็นตัวตั้งต้นในการดำเนินการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกะลามะพร้าวแบบครบวงจร และได้มีการเชิญอาจารย์บงกชรัตน์ ล้ำเลิศ ไซเนอร์และเจ้าของบริษัทไอริสซ่า มาเป็นวิทยากรในการนำใช้เศษวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้คนในชุมชนทำเป็นอาชีพเสริมที่จะสร้างรายได้เสริมให้กับเจ้าของสวนมะพร้าว และประการสำคัญก็คือ ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าวจะเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับการใช้การตลาดนำการผลิต ซึ่งทางทีมวิทยากรและมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้บริหารจัดการเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ได้แบบครบวงจร เพื่อให้ผลผลิตที่ได้นั้นสามารถขายในตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

         สำหรับการลงพื้นที่ครั้งต่อไป จะมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับและพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ณ อาคารเอนกประสงค์ หมู่ 2 ต.แสงอรุณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์

# กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี