ศูนย์วิจัยสิงขร – มะริดศึกษา นำนวัตกรรมเข้าร่วมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ศูนย์วิจัยสิงขรมะริดศึกษา นำนวัตกรรมด้านเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ
เข้าร่วมงาน"มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565

          ศูนย์วิจัยสิงขร –มะริดศึกษา นำโดยอาจารย์ ดร.เอื้อมพร โตภาณุรักษ์กุล เลขานุการศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นำนวัตกรรมที่มีฐานรากวิจัยในกลุ่ม “นวัตกรรมด้านเครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ” เข้าร่วมจัดแสดงในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 : NST Science Carnival Bangkok ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2565 ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร เพื่อจัดแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีรากฐานจากงานวิจัยในสาขาต่างๆ โดยเน้นการโชว์ความเป็นนวัตกรรม

         สำหรับการนำเสนอนวัตกรรมดังกล่าว เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าที่พัฒนาต่อยอดมาจากผลงานวิจัยเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าตามเส้นทางสายไหมทางทะเล “ผ้าลายปลาทู” ที่เกิดจากการศึกษาเส้นทางวงจรชีวิตของปลาทูในอ่าวไทย และออกแบบเป็นลายผ้าที่แสดงอัตลักษณ์ร่วมกันของจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 2 ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงครามและประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและรณรงค์ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

         นอกจากผ้าลายปลาทูแล้ว ศูนย์วิจัยสิงขร – มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ยังมีลายผ้าที่ออกแบบตามอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีที่มีความสวยงามและมีความหมายในลวดลายที่ออกแบบอีก เช่น ลายทุ่งนาป่าตาล ลายทวารวดี ลายครอบครัวปลาวาฬ ลายเพชรราชภัฏและลายสุวรรณวัชร์ ที่ได้รับการยอมรับจากจังหวัดเพชรบุรีให้เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี

# กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี