ลงนามความร่วมมือในการประสานงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ลงนามความร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตร
เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้ให้กับชุมชนด้วยการรับซื้อผลผลิตเพื่อนำมาแปรรูป

               เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 24 เมษายน 2566 ณ อาคารศูนย์พัฒนาวิชาชีพครู (อาคาร 34) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการประสานความร่วมมือทางวิชาการและปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กับสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด สหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด และสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นายฉัตรชนก แพลอย ประธานสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด นายศิริชัย จันทร์นาค ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด นายมานะ บุญสร้าง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

                 การลงนามความร่วมมือสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด มีหลักการสำคัญคือเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ในแนวทางที่ใช้พื้นที่และชุมชนเป็นแกนหลักร่วมกับภาคีเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ โดยเน้นการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนในเรื่องการพัฒนาศักยภาพของคน พัฒนาระบบ และกลไกของชุมชนให้มีทักษะ ความรู้ และความสามารถในด้านการบริหารจัดการที่ดี การจัดระบบข้อมูล และองค์ความรู้ของงานวิจัยเพื่อพัฒนาและสื่อสารงานพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการจัดทำแผนพัฒนาชุมชน การจัดระบบข้อมูลองค์ความรู้ งานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมและการสื่อสารงานพัฒนาของชุมชนในด้านต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้าน เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

                   ขณะที่ในส่วนของสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด และสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ได้มีการทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในเรื่องของการสร้างความร่วมมือในการสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ซึ่งสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด และสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด จะเป็นผู้รวบรวมผลผลิตกล้วยหอมทองจากเกษตรกร เพื่อส่งให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี เดือนละ 5,000 กิโลกรัม เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำกล้วยหอมทองเชิงพาณิชย์ ที่มีเป้าหมายเพื่อนำองค์ความรู้มาสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัย โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์น้ำกล้วยเพื่อจำหน่าย ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งมีสาขาวิชาเทคโนโลยีและศิลปะการประกอบอาหาร และสาขาวิชาอาหารและโภชนาการประยุกต์ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

                   พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “บทบาทที่สำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฎ คือ การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่เน้นรากฐานสำคัญของประเทศชาติ เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการรับใช้สังคมด้วยการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่นำสู่การแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การเสริมพลังแก่ชุมชนในจัดการตนเอง สนับสนุนการวิจัยตามความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการวิจัยและการบริการวิชาการที่มองเห็นการใช้ประโยชน์และผู้ใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน เกิดการสร้างคุณค่าและมูลค่าเชิงพาณิชย์ โดยการทำงานในรูปแบบของภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน ที่จะช่วยส่งเสริมสร้างมูลค่าเพิ่ม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดความยั่งยืน สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลง และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม”

              ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว ได้กล่าวถึงแนวคิดในการผลิตและพัฒนาน้ำกล้วยหอมทอง ว่า “น้ำกล้วยหอมทอง ผลิตจากกล้วยที่มีคุณภาพจากอำเภอท่ายางและอำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี นำมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้วยการวิจัยโดยคณาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ก่อนที่ส่งถึงมือผู้บริโภคภายใต้ความสดชื่อนและรสชาติที่อร่อย ให้คุณค่าทางอาหาร”

# กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี