ตัดสินการประกวดผลงานการออกแบบลายผ้าอัตลักษณ์จังหวัดเพชรบุรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ตัดสินการประกวดผลงานการออกแบบลายผ้าอัตลักษณ์จังหวัดเพชรบุรีสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์

                 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานในการตัดสินการประกวดผลงานการออกแบบลายผ้าอัตลักษณ์จังหวัดเพชรบุรีสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รองชิงชนะเลิศ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารสถาบันช่างเมืองเพชรและศิลปะร่วมสมัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของลายผ้าและการออกแบบร่วมเป็นผู้ตัดสิน

                มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ดำเนินกิจกรรมโครงการประกวดออกแบบลายผ้าอัตลักษณ์จังหวัดเพชรบุรีสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมและสืบสานวัฒนธรรมในการ สร้างสรรค์ลายผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี ตลอดจนเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เชิงพาณิชย์เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตและชุมชนต่อไป โดยได้เปิดรับสมัครผู้สนใจจากทั่วประเทศเข้าร่วมส่งผลงานตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 71 ผลงาน ก่อนที่จะมีการพิจารณาตัดสินให้เหลือ 39 ผลงาน และ 6 ผลงานตามลำดับ  

               หลักเกณฑ์ในการพิจารณาในรอบชิงชนะเลิศ ประกอบด้วย แนวความคิดของผลงารสื่อได้ตรงตามอัตลักษณ์จังหวัดเพชรบุรีสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การจัดวางองค์ประกอบของลาย การเลือกใช้สีและลวดลายที่แสดงถึงความโดดเด่นตามอัตลักษณ์จังหวัดเพชรบุรีสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและการต่อยอดผลงานในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

             สำหรับผลการตัดสิน ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ นางสาวกัญญาภัค ทองเอียง นักศึกษาสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กับผลงานที่มีชื่อว่า มอมอ IN เพชร ภายใต้แนวคิดวิถีชีวิตของคนเพชรบุรีกับการละเล่นวัวลาน รวมถึงขนมหวานจากลูกตาลเมืองเพชร และวิวธรรมชาติป่าตาลที่สะท้อนให้เห็นถึงรากเหง้าของความเป็นเพชรบุรี

              หลังจากนี้ ผลงานลายผ้าอัตลักษณ์ที่ได้รับการคัดเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจะนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพิ่มมูลค่าสินค้าภายใต้อัตลักษณ์ความเป็นเพชรบุรี   

             โอกาสนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้เข้าชมผลงานและกล่าวให้กำลังใจผู้เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ด้วย

# กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี