สร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตกับ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโกโก้ ตะนาวศรี”

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเดินหน้าพัฒนาท้องถิ่น
ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างรายได้อย่างยั่งยืน กับ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโกโก้ ตะนาวศรี”

                วันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว รองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เครือข่ายวิถีเกษตรธรรมชาติ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโกโก้ ตะนาวศรี ตำบลช้างแรก อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดตามพร้อมให้กำลังใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

               ผู้ช่วยศาสตราจารย์พจนารถ บัวเขียว กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้น้อมนำพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น สาเหตุที่เลือกชุมชนช้างแรกเนื่องจากได้มีการทำเวทีประชาคม และพบว่าคนในชุมชนมีความเข้มแข็ง พร้อมที่จะพัฒนาตนเอง แต่ชุมชนประสบกับปัญหาขาดช่องทางในการจำหน่ายและขาดองค์ความรู้ในการแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย จึงลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่าย โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือสร้างศูนย์การเรียนรู้ของโกโก้ให้เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ที่ทุกคนเข้ามาเรียนรู้ถึงวิธีการปลูกไปถึงการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป ส่วนที่ 2 การสร้างมูลค่าเพิ่มการแปรรูปโกโก้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และส่วนที่ 3 คือ การทำการตลาด ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ หากทำครบทุกส่วน คาดว่าสามารถสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในตำบลช้างแรกได้ในทุกมิติ”

             นายนันทปรีชา คำทอง ประธานเครือข่ายวิถีเกษตรธรรมชาติ อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า “เครือข่ายวิถีเกษตรธรรมชาติ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโกโก้ ตะนาวศรี จัดตั้งเมื่อปี 2565 เพื่อรวมกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกโกโก้ และพบกับปัญหาราคาตกต่ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีในการหนุนเสริมองค์ความรู้และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากเดิมที่ขายเป็นผลโกโก้ก็ได้มีการนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ผงโกโก้ โกโก้ 3 in1 สบู่จากโกโก้ butter ชาจากเปลือกโกโก้ ส่วนเปลือกของโกโก้ก็นำไปทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในภาคการเกษตร เป็นการใช้โกโก้ที่คุ้มค่า ใช้ประโยชน์ในทุกส่วน และก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้นำสมาชิกไปศึกษาดูงานในที่ต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาพัฒนา ต่อยอดและแปรรูปโกโก้จากผลสด ที่ช่วงแรกแปรรูปได้เพียงโกโก้ผง แต่ยังมีส่วนของน้ำมันที่สกัดออกมาแต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ก็นำไปทำเป็นสบู่ที่มีสรรพคุณในการบำรุงผิวให้มีความชุ่มชื่น ลดอาการคัน และตอนนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเข้ามาช่วยเหลือ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกโกโก้ว่าสามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน”

          ท้ายนี้ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่เข้ามาหนุนเสริมในด้านต่าง ๆ ซึ่งเราดำเนินการตามศาสตร์พระราชาอย่างแท้จริง คือการพึ่งพาตนเอง นับว่าเป็นอิฐก้อนแรกที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมด้วยความแข็งแกร่งของชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ

#กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี