พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในการป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็กปฐมวัย

การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในการป้องกันการจมน้ำ
สำหรับเด็กปฐมวัยและการช่วยเหลือเบื้องต้น

            ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุในการป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็กปฐมวัย และการช่วยเหลือเบื้องต้น ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนตำบลต้นมะม่วงเข้าร่วม เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดท่าศิริ ตำบลต้นมะม่วง อำเภอเมืองเพชรบุรี โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรือเอกหญิง สุพัตรา นุตรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น คณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณไพร แย้มมา อาจารย์ภาควิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น คุณสุทธดา บัวจีน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลต้นมะม่วง เข้าร่วม

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรือเอกหญิง สุพัตรา นุตรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า “จังหวัดหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี  เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพบข้อมูลอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ต่อประชากรเด็กแสนคน เฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังเท่ากับ 7.5 และจัดเป็นพื้นที่สีแดงที่มีความเสี่ยงมาก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้เหลือ 2.5 คน ต่อประชากรเด็กแสนคน ภายในปี 2570 ซึ่งภาควิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่นได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความปลอดภัยในเด็กปฐมวัยในท้องถิ่น ภายใต้บริบทของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในชุมชน ซึ่งผู้สูงอายุยังสามารถทำคุณประโยชน์ในการเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนในประเด็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในวัยเด็กเล็ก จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลต้นมะม่วงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ขึ้น”

       ภายในงาน มีการบรรยายเสริมสร้างความรู้ในเรื่องของแหล่งน้ำที่เป็นอันตรายสำหรับเด็กที่นอกเหนือจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ถังน้ำ กะละมัง บ่อปลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ถ่ายทอดวิธีการป้องกันเด็กจมน้ำ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” และการช่วยเหลือเด็กจมน้ำที่ถูกวิธี ทั้งนี้ เพื่อสร้างเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุในด้านการจัดการความปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัยในท้องถิ่น ซึ่งให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังอุบัติเหตุการจมน้ำและการช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต อันจะนำมาสู่การพัฒนาศักยภาพในการรจัดการความปลอดภัยในเด็กปฐมวัย โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ยั่งยืน

#กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี