นิทรรศการ“ชีวิตและผลงานอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช”

นิทรรศการ“ชีวิตและผลงานอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช”

           วันที่ 26 สิงหาคม 2566 อาคารสถาบันช่างเมืองเพชรและศิลปะร่วมสมัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นประธานเปิดนิทรรศการ“ชีวิตและผลงานอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช” โดยมี……เข้าร่วม

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัชรินทร์ สุริยวงค์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า “การจัดนิทรรศการในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณช่างศิลป์ท้องถิ่นให้เป็นที่ประจักษ์ และส่งเสริมการสืบทอดงานฝีมือสกุลช่างเมืองเพชร โดยสถาบันช่างเมืองเพชรและศิลปะร่วมสมัย ศูนย์ข้อมูลคติชนและวรรณกรรมลายลักษณ์เพชรบุรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และสถาบันช่างศิลป์ท้องถิ่น จึงได้ร่วมกันจัดนิทรรศการในครั้งนี้ขึ้น”

          กิจกรรม ประกอบด้วย นิทรรศการ “ชีวิตและผลงานอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช” เป็นการนำเสนอประวัติและผลงานของอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช และตัวอย่างชิ้นงานศิลปกรรมของอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช การเสวนาวิชาการ “ชีวิตและผลงานอาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช” ผ่านมุมมอง ศิลปินแห่งชาติ นักประวัติศาสตร์ ราชบัณฑิต ศิษย์ครูเลิศ โดยวิทยากร ได้แก่ รองศาสตราจารย์ศิริพงศ์ พะยอมแย้ม ศิษย์อาจารย์เลิศ อาจารย์เอนก นาวิกมูล    ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์สนั่น รัตนะ ราชบัณฑิต อาจารย์ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ นักประวัติศาสตร์

          นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานการเก็บข้อมูลด้านงานช่างพื้นบ้านของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นกิจกรรมในรายวิชาคติชนวิทยา โดยมีอาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย เป็นอาจารย์ประจำรายวิชา

          อาจารย์เลิศ พ่วงพระเดช เกิดเมื่อ พ.ศ.2437 เป็นช่างเมืองเพชรสายพระอุปัชฌาย์ริด วัดพลับพลาชัย ซึ่งสืบทอดฝีมือมาจากขรัวอินโข่ง อาจารย์เลิศเป็นช่างเขียนฝีมือดี ที่ปรากฏงานของท่านทั้งที่เพชรบุรี กรุงเทพฯ และประจวบคีรีขันธ์ ผลงานโดดเด่นคือการได้รับเลือกให้เข้าไปเขียนภาพรามเกียรติ์ที่วัดพระแก้วในคราวฉลองกรุง 150 ปี สมัยรัชกาลที่ 7 และท่านยังมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อีกเป็นจำนวนมากทั้งด้านจิตรกรรม ปูนปั้น แกะสลักไม้ และออกแบบสถาปัตยกรรม ในระหว่าง พ.ศ. 2495 – 2511 ท่านเป็นอาจารย์สอนศิลปะภาพลายไทย ที่โรงเรียนช่างศิลป กรมศิลปากร เป็นเวลา 16 ปี และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้วิชาช่างสกุลเพชรบุรี สายขรัวอินโข่ง แก่ลุกศิษย์ไปเป็นจำนวนมาก และเป็นผลให้องค์ความรู้ด้านศิลปะไทยประเพณีได้รับการสืบทอดเผยแพร่สืบมาถึงปัจจุบัน

          ผู้สนใจสามารถเข้ารับชมได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 24 กันยายน 2566 ตั้งแต่วลา 09.00 – 16.00 น. (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ณ ห้องนิทรรศการ อาคารสถาบันช่างเมืองเพชรและศิลปะร่วมสมัย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

#กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี