ประชุม (ร่าง) แผนพัฒนาเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นำเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนาเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์
ด้านอาหาร UNESCO สู่การเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

             วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมราชภัฏสภา ชั้น 9 อาคารวิทยาภิรมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.พัชรศักดิ์ อาลัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ด้านการวิจัย นวัตกรรม นโยบายและแผน และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ให้การต้อนรับนายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและส่วนราชการ ในการประชุมนำเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนาเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนในระยะ 3-5 ปี เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “แผนพัฒนาเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO ของจังหวัดเพชรบุรี สอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยในการที่จะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านอาหาร การท่องเที่ยว และวิสัยทัศน์ของจังหวัดเพชรบุรีที่จะเป็นเมืองต้นแบบตามศาสตร์พระราชา น่าอยู่ น่ากิน น่าเที่ยว สู่เมืองสร้างสรรค์ระดับสากลอย่างยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ที่ทำงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริม สนับสนุนและสร้างเครือข่าย เพื่อสร้างเอกลักษณ์ด้านอาหารและการท่องเที่ยวให้ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ  โดยมีสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและโรงเรียนการอาหารนานาชาติเพชรบุรี ทำหน้าที่เชื่อมโยงและบูรณาการเชิงพื้นที่ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น บนพื้นฐานของความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรี และต้องขอบคุณจังหวัดเพชรบุรีที่เกียรติมหาวิทยาลัยในการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเป็น Creative City of Gastronomy ของจังหวัดเพชรบุรี”

            ด้านนายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เผยว่า “แผนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นกิจกรรมสำคัญที่จะช่วยจังหวัดเพชรบุรีขับเคลื่อนการดำเนินงานเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารให้เป็นที่ยอมรับและเกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน ยกระดับอาหารเมืองเพชรไปสู่การสร้างรายได้ให้กระจายไปสู่ประชาชน และเชื่อมโยงร่วมกับการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีและงานวิจัยบนพื้นฐานความโดดเด่นของจังหวัดเพชรบุรี โดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ 4 ภาคส่วน ได้แก่ ผู้ประกอบการ OTOP/SMEs ภาคเอกชน ภาครัฐ และมหาวิทยาลัยเครือข่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในภูมิภาคภาคกลางตอนล่าง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคและฐานทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศได้

              ในการประชุม ได้มีการนำเสนอภาพรวมผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย แผนงานวิจัยเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน การยกระดับวัตถุดิบอัตลักษณ์ท้องถิ่น การบกระดับอาหารท้องถิ่นเมืองเพชรสู่มาตรฐานสากล การประเมินผลและการวัดผลการดำเนินโครงการเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารปลอดภัย

สำหรับ (ร่าง) แผนงานวิจัยเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ดำเนินการวางแนวทางการพัฒนาร่างแผนพัฒนาเพชรบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร UNESCO สู่การเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า โดยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)  ยุทธศาสตร์จังหวัดเพชรบุรีและยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

#กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี