มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรม แถลงข่าวการจัดงาน “100 จาน งานวัด 100 ปีราชภัฏเพชรบุรี” รังสรรค์เมนูอาหารพื้นบ้าน พร้อมเปิดตัวหนังสืออาหารพื้นถิ่น

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรม
แถลงข่าวการจัดงาน “100 จาน งานวัด 100 ปีราชภัฏเพชรบุรี”
รังสรรค์เมนูอาหารพื้นบ้าน พร้อมเปิดตัวหนังสืออาหารพื้นถิ่น

วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมพะนอมแก้วกำเนิด อาคารสุเมธตันติเวชกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี และสภาวัฒนธรรมอำเภอทั้ง 8 อำเภอในจังหวัดเพชรบุรี แถลงข่าวการจัดงาน “100 จาน งานวัด 100 ปีราชภัฏเพชรบุรี” ซึ่งได้รับเกียรติจากพลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ในการกล่าวมอบนโยบายและให้กำลังใจคณะทำงาน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางกัญญพัชร นางาม วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี นางสาวมิ่งขวัญ บุญโภคัย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบุรี และนายสายัณห์ สิทธิโชคธรรม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี ร่วมแถลงข่าว

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้สนองพระบรมราโชบายตามยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรียังได้ให้ความสำคัญในการสืบสาน รักษาและต่อยอดภูมิปัญญา โดยเฉพาะอาหารพื้นบ้านของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ภายในปี 2570 เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านอาหาร การท่องเที่ยวและวิทยาการสุขภาพ ภายใต้ความเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล ด้วยการบูรณาการศาสตร์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”

พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรี อุดมไปด้วยภูมิปัญญาทางอาหารที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ วิถีการปรุง และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โครงการในวันนี้จึงเป็นมากกว่างานเทศกาลอาหาร แต่เป็นเวทีแห่งการยกย่องเชิดชูแม่ครัวท้องถิ่น ผู้เป็นผู้รักษารากเหง้าและจิตวิญญาณของวัฒนธรรมอาหารไทย นอกจากจะเป็นการรวบรวมและบันทึกเมนูอาหารพื้นถิ่นจากทุกอำเภอในจังหวัดเพชรบุรีแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เปิดโอกาสให้อำเภอและชุมชนได้แสดงศักยภาพ สร้างความภาคภูมิใจ และส่งต่อเรื่องราวของท้องถิ่นสู่สาธารณชน ต้องขอแสดงความชื่นชมมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ต่อความคิดริเริ่มและความทุ่มเทของทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในงานนี้ และขอเป็นกำลังใจให้คณะทำงาน เดินหน้าต่อยอดภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้จังหวัดของเรายืนหยัดเป็นต้นแบบ สมกับเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโกต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องอาหารในฐานะศูนย์กลางองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยหลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ริเริ่มและสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมอาหาร ทั้งการจัดเทศกาลอาหารพื้นถิ่น งานวิจัยและถอดบทเรียนจากชุมชน รวมถึงการอบรมให้ความรู้แก่แม่ครัวพื้นบ้านและผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และพัฒนาอาหารในพื้นที่อย่างมีระบบ ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะในด้านอาหารพื้นถิ่น เพชรบุรีมีอาหารหลากหลายที่สะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการวิจัยและรวบรวมเมนูประจำถิ่น ทั้งสูตรอาหาร เรื่องเล่า และภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้อง นำมาจัดทำเป็น “คลังข้อมูลอาหารพื้นถิ่น” เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเชิงวัฒนธรรมและการเรียนรู้ ทั้งยังสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ การท่องเที่ยวและการพัฒนาเชิงพื้นที่ต่อไปได้

หลังจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจะลงพื้นที่เก็บข้อมูลอาหารพื้นบ้านของจังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำมาจัดทำเป็นหนังสือเผยแพร่และเปิดตัวหนังสือในงานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนสัมพันธ์และการแสดงนานาชาติ ครั้งที่ 14 ในช่วงต้นเดือนธันวาคม นี้