ครูผู้สอนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบุรี เข้าร่วมโครงการการพัฒนาสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนด้วย Generative AI เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ครูผู้สอนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบุรี
เข้าร่วมโครงการการพัฒนาสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนด้วย Generative AI
เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิเชียร เข็มเงิน รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการบริหาร เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการและกล่าวต้อนรับ ดร.ณัฐฐินันท์ พราหมณ์สังข์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบุรี และคณะครูผู้สอนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบุรี ที่เข้าร่วมโครงการการพัฒนาสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนด้วย Generative AI เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (ระยะที่ 1) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับคณะครุศาสตร์ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบุรี จัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมชั้น 1 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกรัตน์ จิรสัจจานุกูล รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝ่ายวิชาการ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดโครงการในครั้งนี้ว่า “เพื่อพัฒนาทักษะและศักยภาพของครูในการสร้างสื่อการเรียนการสอนที่ดึงดูดใจและมีคุณภาพ สร้างคลังสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลที่สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และเสริมสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ ด้วยการนำ Generative AI มาใช้ในการออกแบบสื่อการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างสื่อที่สะดุดตา ตอบโจทย์การเรียนรู้เฉพาะบุคคล เพิ่มโอกาสให้ผู้เรียนทุกวัยสามารถเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างแท้จริง

กิจกรรมในระยะที่ 1 ประกอบด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานการใช้คำสั่งเพื่อสร้างสื่อเนื้อหา ไฟล์ภาพ ไฟล์เสียง ด้วย Generative AI เบื้องต้น การพัฒนาสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอนด้วย Canva AI การเผยแพร่ในรูปแบบหนังสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) และการพัฒนาสื่อนวัตกรรม วีดีโอแบบ Interactive ด้วย Edpuzzle ขณะที่ในระยะที่ 2 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 6 กันยายน 2568 ในเรื่องของการจัดการคลังสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล