ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ร่วมวิพากษ์ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ระยะ 20 ปี และ 5 ปี เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนานักศึกษาและมหาวิทยาลัย

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
ร่วมวิพากษ์ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ระยะ 20 ปี และ 5 ปี
เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนานักศึกษาและมหาวิทยาลัย

วันที่ 6 มิถุนายน 2568 กองนโยบายและแผน นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากรที่ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เข้าร่วมวิพากษ์ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2569-2588) และแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2569-2573) เพื่อให้แผนยุทธศาสตร์ฯ สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้มีความครอบคลุมและสามารถขับเคลื่อนแผนนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

สำหรับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานไว้ 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ โดยแต่ละยุทธศาสตร์ได้นำเสนอ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความโดดเด่นด้านอาหาร การท่องเที่ยวและวิทยาการสุขภาพ: พัฒนาและยกระดับหลักสูตร ทั้งโครงการพัฒนาและยกระดับหลักสูตรระดับปริญญาตรีด้านอาหาร การท่องเที่ยวและวิทยาการสุขภาพ โครงการ Degree and Non Degree เพิ่มทางเลือกการศึกษาที่หลากหลาย โครงการหลักสูตรระยะสั้น เสริมทักษะเฉพาะทางอย่างรวดเร็ว การสร้างเครือข่ายและขยายความร่วมมือทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ การบริหารจัดการเครือข่ายที่ยั่งยืน การพัฒนาบุคลากร สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาระดับนานาชาติ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตบัณฑิต: สร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ บัณฑิตที่เป็นไปตามความต้องการของตลาดเป็นไปตามสมรรถนะของหลักสูตร โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ เช่น กลุ่มการพยาบาล วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสุขภาพ ตลอดจนจัดทำหลักสูตรคลังเครดิต (Credit Bank) สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต การพัฒนาผู้เรียนและการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สนับสนุนการพัฒนาอาชีพและการประกอบการ (ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ) การบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พัฒนาความสามารถและสมรรถนะของอาจารย์สู่มืออาชีพ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การผลิตและพัฒนาวิชาชีพครู: มุ่งเน้นในการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะที่เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในยุคสังคมดิจิทัล สามารถเป็นผู้นำในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้เรียน สนับสนุนการออกแบบสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยด้าน AI เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักศึกษาครูและอาจารย์ผู้สอนนักศึกษาครู

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม: สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ส่วนราชการ ผู้ประกอบการ ชุมชน เพื่อสร้างสรรค์งานวิจัยที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมการจัดตั้งและพัฒนากลุ่มวิจัยและศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยตามศักยภาพและความเชี่ยวชาญ ยกระดับการวิจัยสู่การเป็นเลิศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม การพัฒนาสมรรถนะและเสริมสร้างนักวิจัยสู่ความเป็นมืออาชีพระดับสากล ทั้งในด้านของการตีพิมพ์และการนำไปใช้ประโยชน์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาท้องถิ่น: ดำเนินการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและท้องถิ่น พัฒนาความรู้ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและส่งเสริมความยั่งยืน พร้อมกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชน รวมถึงการบริการวิชาการเชิงพาณิชย์ เช่น การจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การนำศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น งานปูนปั้นเมืองเพชร ละครชาตรี มาบูรณการกับการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาระบบการบริหารองค์กรที่มีประสิทธิภาพ: นำระบบดิจิทัลวางระบบให้ครอบคลุม รวมถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อรองรับ Big Data และฐานข้อมูล การใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ การอบรมให้ความรู้แก่คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาในการใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้อง การนำความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมาบูรณาการกับการทำงานและการจัดการเรียนการสอน นำไปสู่ Green University ในระดับที่สูงขึ้น ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีกับหน่วยงานภายนอก

โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้กล่าวให้ข้อเสนอแนะการนำเสนอ (ร่าง) ยุทธศาสตร์แต่ละยุทธศาสตร์ เพื่อให้กองนโยบายและแผนนำไปสังเคราะห์ ก่อนนำไปจัดทำเป็นกรอบแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่สะท้อนไปสู่วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย และที่สำคัญต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ประเด็น จนทำให้มหาวิทยาลัยเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง