กิจกรรม “การปลูกพืชเฉลิมพระเกียรติแปลงต้นแบบเกษตรผสมผสานตามหลักปรัชญาเศษรฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ”

กิจกรรม เดินตามรอยเท้าพ่อ สานต่อความพอเพียง

           ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้ดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบาย ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาได้พัฒนาชุมชนต้นแบบ จำนวน 48 หมู่บ้าน ที่สามารถพึ่งพาตนเองและขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นได้อย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2564  โดยนโยบายของสภามหาวิทยาลัยและดำริของท่านอธิการบดีในปีนี้ให้ใช้พื้นที่วิทยาเขตโป่งสลอดเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับประชาชนและผู้ที่สนใจ ดังนั้น คณะผู้ดำเนินงานจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ วิทยาเขตโป่งสลอด โดยจัดทำในกิจกรรมที่เรียกว่า เดินตามรอยเท้าพ่อ สานต่อความพอเพียง มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

  1. เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเกษตรให้กับพี่น้องประชาชน
  2. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
  3. เพื่อเป็นครัวของชุมชนและโรงเรียนในท้องถิ่น

กิจกรรมจะประกอบไปด้วย

  • การปลูกพืชผสมผสานโดยเน้นพืชที่ปลูกกินและเก็บผล เพื่อสร้างรายได้รายวัน รายสัปดาห์ และเก็บผลตลอดทั้งปี โดยพืชที่ปลูกในวันนี้ประกอบด้วย พืชผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง ผักคะน้า กวางตุ้ง กะเพรา โหระพา พริก มะเขือ ผลไม้ เช่น ชมพู่เพชรสายรุ้ง มะนาวแป้นรำไพ ทุเรียนหมอนทอง ส้มโอ กล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการปลูกกล้วยตามแนวขอบแปลง และมีการปลูกผักสำหรับประชาชนที่เป็นภาคีเครือข่าย ได้ให้ในการบริโภคและจัดจำหน่าย 

       โดยศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานนี้จะใช้ระบบการบริหารจัดการแบบเกษตรอัจฉริยะโดยใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า มีการใช้พลังงานโซล่าเซลล์ในการสูบน้ำแทนพลังงานไฟฟ้า มีการจัดทำปุ๋ยชีวภาพและสารชีวพันธุ์จากจุลินทรีย์หน่อกล้วยเพื่อทำใหศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นศูนย์เกษตรอินทรีย์และเป็นต้นแบบเกษตรอัจฉริยะต่อไป

      และกิจกรรมในวันนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง จากทุกภาคส่วน เช่น นายอำเภอบ้านลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองกะปุ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 เจ้าของพื้นที่ ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบโรงเรียนวัดโพธิ์ลอย โรงเรียนบ้านโป่งสลอด และโรงเรียนบ้านหนองโสน ได้นำนักเรียนมาร่วมกิจกรรม เป็นจำนวน 134 คน , มณฑลทหารบกที่ 15 โดยท่านผู้บัญชาการมณฑลได้นำกำลังพลมาร่วม จำนวน 25 คน, นักศึกษาจากสาขาสังคมศึกษาจำนวน 100 คน นักศึกษาจากคณะเกษตรและเทคโนโลยี คณาจารย์และผู้บริหารของมหาวิทยาลัย