กิจกรรมเรียนรู้ประวัติชุมชนด้วยเครื่องมือวิศวกรสังคม ส่งเสริมการท่องเที่ยว“ตลาดเก่า เล่าขาน บ้านหนองจอก” 2 กันยายน 20242 กันยายน 2024อุบลรัตน์ อินพาลำกิจกรรมนักศึกษา, ข่าวงานบริหารงานบุคคล, ข่าวประชาสัมพันธ์, ข่าวสื่อสารองค์กร จำนวนผู้ชม : 32 กิจกรรมเรียนรู้ประวัติชุมชนด้วยเครื่องมือวิศวกรสังคม ส่งเสริมการท่องเที่ยว“ตลาดเก่า เล่าขาน บ้านหนองจอก” นักศึกษาวิศวกรสังคม มรภ.เพชรบุรี ร่วมกับชุมชนหนองจอก จัดกิจกรรมเรียนรู้ประวัติชุมชนด้วยเครื่องมือวิศวกรสังคม ส่งเสริมการท่องเที่ยว“ตลาดเก่า เล่าขาน บ้านหนองจอก” ช่วงค่ำวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ณ ลานวัฒนธรรม ชุมชนหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี นักศึกษาวิศวกรสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จัดกิจกรรม “ตลาดเก่า เล่าขาน บ้านหนองจอก” กิจกรรมที่ดำเนินการภายใต้เครื่องมือวิศวกรสังคม 5 เครื่องมือ ซึ่งได้รับเกียรติจากนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นายกิตติภพ รักษาราษฎร์ รักษาการผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา ผู้นำชุมชน นักศึกษาและนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เปิดเผยว่า “การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เกิดนักศึกษาวิศวกรสังคมของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้นำเครื่องมือวิศวกรสังคมทั้ง 5 เครื่องมือ ได้แก่ ฟ้าประทาน นาฬิกาชีวิต Timeline พัฒนาการ Timeline กระบวนการ และ MIC model มาใช้ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของชุมชนหนองจอก เป็นการฝึกให้นักศึกษาเป็นนักคิด นักสื่อสาร นักประสานและนักนวัตกรเพื่อสร้างนวัตกรรม จากการที่นักศึกษาได้คัดเลือกชุมชนหนองจอกทำให้ได้เห็นถึงเรื่องราวอดีตสู่ปัจจุบัน และยังได้ทราบว่าคนในชุมชนต้องการให้ตลาดเก่าของชุมชนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง” นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “ขอชื่อชมมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยเฉพาะนักศึกษาวิศวกรสังคมที่ได้นำต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนมาสร้างคุณค่า เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในด้านสินค้าและบริการการท่องเที่ยว และทำให้ได้รับการอนุรักษ์ พัฒนา ต่อยอดและเผยแพร่สู่สาธารณะ ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ส่งเสริมเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบุรีและประเทศตามนโยบายรัฐบาล สอดคล้องกับส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ ขับเคลื่อน Soft Power ตามนโยบาย one family one soft power” นายจงรัก ใจเสน นายอำเภอท่ายาง ได้เล่าถึงความร่วมมือในการดำเนินงานในครั้งนี้ว่า “อำเภอท่ายางยินดีสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ ถือว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนหนองจอกจากอดีตสู่ปัจจุบัน ทำให้ทราบว่า เมื่อปี 2445 บ้านหนองจอกก่อตั้งเป็นตำบลอยู่ภายใต้การบริหารงานของอำเภอนายาง เคยเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอชะอำ ในปี 2457 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่ออำเภอนายางเป็นอำเภอหนองจอก ในปี 2460 และย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจอกไปตั้งที่ตำบลชะอำ และได้เปลี่ยนเป็นอำเภอชะอำ เมื่อปี 2487 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอหนองจอก จังหวัดเพชรบุรี เป็นอำเภอชะอำ และเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ของตำบลหนองจอก อำเภอชะอำ ไปขึ้นกับอำเภอท่ายาง ในปี 2490 จนถึงปัจจุบัน” กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและโรงเรียนต่าง ๆ ในพื้นที่ การแสดงจากชมรมผู้สูงอายุ การแสดงคาบาเร่ต์โชว์ การสาธิตการทำอาหารและผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น ต้มสายบัว แกงหัวตาล ขนมครกสูตรโบราณ ขนมเปี๊ยะหนองจอก ทองม้วนสามสหาย น้ำบัวหลวงหม้อดิน ขนมต้มเม็ดบัว เป็นต้น สำหรับท่านใดที่พลาดกิจกรรมในวันนี้ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมครั้งต่อไปได้ทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือน #มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี #ราชภัฏเพชรบุรีกับการพัฒนาระบบการบริหารองค์กรที่มีประสิทธิภาพ#100ปีราชภัฏเพชรบุรี Facebook iconFacebookTwitter iconTwitterLINE iconLine