นักวิจัย มรภ.เพชรบุรี นำนักวิจัย มรภ.ตะวันตก ล่องเรือสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนบ้านบางตะบูน พร้อมยกระดับสินค้าชุมชนสู่การค้าเชิงพาณิชย์

9 กุมภาพันธ์ 2022 ข่าวสื่อสารองค์กร
ล่องเรือสำรวจเส้นทางบางตะบูน ยกระดับสินค้าชุมชนสู่การค้าเชิงพาณิชย์

ตามที่เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย “แผนงานการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่น ปีที่ 2” จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบประมาณทั้งสิ้น 20 ล้านบาท โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยเป็นผู้อำนวยการแผนงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ทั้งด้านมูลค่าและคุณค่าบนฐานอัตลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ยกระดับช่องทางการสื่อสารการตลาดท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย เป็นการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนต้นแบบการบริหารจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน และภาคีเครือข่ายเพื่อความยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาระบบการบริหารจัดการงานวิจัยและพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (University Engagement) โดยเครือข่ายนักวิจัยและผู้บริหารสถาบันวิจัยและพัฒนา จากแผนงานดังกล่าวมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าโหนดภูมิภาคตะวันตก ดำเนินงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดแบบบูรณาการเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวตามวิถีชุมชนกินดื่มอาหารปลอดภัยเชิงสร้างสรรค์ภูมิภาคตะวันตก” ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 อาจารย์คงขวัญ ศรีสอาด หัวหน้าทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้นำทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏในภูมิภาคตะวันตก พร้อมด้วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นทีมกลาง และหัวหน้าแผนงาน พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาโครงการ ลงพื้นที่กิจกรรมติดตามผลการดำเนินงานของโหนดภูมิภาคแผนงานการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาพื้นที่บนฐานอัตลักษณ์ท้องถิ่น ปีที่ 2 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ภาคีเครือข่าย ด้วยการล่องเรือเยี่ยมชมชุมชนบ้านบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เพื่อสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยว ตั้งแต่วัดเกาะแก้ว วัดคุ้งตำหนัก ศาลเจ้าแม่ทับทิม วัดปากลัด และสะพานเฉลิมพระเกียรติที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของผู้ที่รักและชื่นชอบในธรรมชาติ มีกระเตงที่เป็นบ้านพักลักษณะโฮมสเตย์ปลูกกลางทะเลท่ามกลางฟาร์มหอยสุดลูกหูลูกตา ชมทัศนียภาพความเป็นอยู่ริมสองฝั่งคลอง เตาเผาถ่านไม้โกงกางจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมานานกว่า 80 ปี ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการสาธิตและทดลองฝึกปฏิบัติการทำอาหารพื้นบ้านที่มีวัตถุดิบหลักเป็นพืชในท้องถิ่น เช่น ผักชะคราม ใบขลู่ และอาหารทะเลสด ๆ จากเรือประมงพื้นบ้าน

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สาธิตการทำขนมไทยจากลูกแสม และการไลฟ์สดตลาดออนไลน์ผ่าน Facebook Live เพจผลิตภัณฑ์ชุมชนคนราชภัฏ ซึ่งประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์ของทั้ง 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูมิภาคตะวันตกที่ลงไปพัฒนาร่วมกับชุมชน ประกอบด้วย น้ำมะพร้าวและน้ำกุหลาบ ชุมชนสามพราน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม น้ำยำส้มโอโบราณ ชุมชนท่าเสา โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี น้ำปลาหวานและกล้วยอบอินทรีย์ ชุมชนปากท่อ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และหอยลายแปรรูปและสบู่ชาโคลที่ทำมาจากถ่าน ชุมชนบ้านบางตะบูน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

จากนั้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 1 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เป็นกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพนักวิจัย โดยการบูรณาการ BCG Model ที่พัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว และกิจกรรมถอดบทเรียนและสังเคราะห์โครงการวิจัย โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง ที่ปรึกษาแผนงานฯ ผศ.ดร.พัชริน ดำรงกิตติกุล ที่ปรึกษาแผนงานฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำและให้ข้อเสนอแนะ

สำหรับชุดโครงการวิจัยในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูมิภาคตะวันตก ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อต้องการส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับสินค้าและการพัฒนาชุมชน ตอบสนองความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องสุขภาพและประสบการณ์ที่มีคุณค่าจากการท่องเที่ยว โดยก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวคุณภาพ

#กลุ่มงานสื่อสารองค์กร มหาวิทยลัยราชภัฏเพชรบุรี

Popular Post