“ปั่นเพื่อแม่ไปแลบ้านลาด” กิจกรรมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ข่าวสื่อสารองค์กร, 10 สิงหาคม 2019
“ปั่นเพื่อแม่ไปแลบ้านลาด” กิจกรรมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี พร้อมด้วยนายภคพัส ส่งวัฒนายุทธ นายอำเภอบ้านลาด นางกรรณิการ์ เอี้ยวสกุลรัตน์ วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี นายปรีชา มากเกิด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี นายผ่วน เอมดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหาด อำเภอบ้านลาด ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ คณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา ร่วมให้การต้อนรับบนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ที่ให้เกียรติเข้าร่วมโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม “เพชรบุรี:อยุธยาที่มีชีวิต” ของชุมชนวัฒนธรรม 300 ปี บ้านหนองแก้ว - ไร่หัวลุ่ม - วัดเขาน้อย อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งสถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยอาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ ได้จัดขึ้น เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2562

สำหรับการจัดกิจกรรในครั้งนี้จัดขึ้นในชื่องาน ปั่นจักรปี 2 “ปั่นเพื่อแม่ไปแลบ้านลาด” เป็นการปั่นจักรยานชมภูมิทัศน์ โดยเริ่มจากวัดโพธิ์กรุ อำเภอบ้านลาด เลียบห้วยโพธิ์กรุ ซึ่งเป็นลำน้ำสายโบราณ ผ่านวัดท่าช้าง และไปสิ้นสุดที่บ้านหนองแก้ว - ไร่หัวลุ่ม ซึ่งระหว่างทางผู้ร่วมกิจกรรมได้แวะชมแหล่งเรียนรู้หลากหลายสถานที่ ประกอบด้วย เรือนไผ่ล้อมที่ล้อมรอบไปด้วยกอไผ่ คงไว้ซึ่งความเป็นวิถีชุมชนและชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของชาวบ้านลาด เรือนเคียงลาน เรือนไทยที่ยังคงรักษาลานบ้านและพื้นที่การใช้งานแบบเรือนชาวนาเพชรบุรี ฐานการจัดการขยะ กลุ่มผลิตทองม้วนน้ำตาลโตนด บ้านไร่หัวลุ่ม กลุ่มเตาเคี่ยวน้ำตาลโตนดในป่าตาล และแวะรับชม รับฟังตำนานพื้นบ้านจากมัคคุเทศก์จิตอาสาชุมชนกับโบราณสถานวัดเขาน้อย

ชุมชนวัฒนธรรม 300 ปี บ้านหนองแก้ว-ไร่หัวลุ่ม-วัดเขาน้อย อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานพบหลักฐานการตั้งชุมชนตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางสืบจนถึงปัจจุบัน กอปรกับการเป็นชุมชนที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์วิถีชีวิตเพชรบุรี ทำให้มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นในด้านวิถีชีวิต ภูมิทัศน์วัฒนธรรม สถาบันวิจัยฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน จึงมีการดำเนินการศึกษาและรวบรวมข้อมูลและจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนวัฒนธรรม พร้อมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ การพัฒนาสินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้างทางวัฒนธรรมของชุมชน โดยใช้อัตลักษณ์ของชุมชนเป็นฐาน จัดทำการตลาดโดยให้ชุมชนเป็นผู้ดำเนินการผ่านการ coaching จากผู้มีประสบการณ์ และการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการในชุมชนและนอกชุมชน เพื่อการสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืนสืบไป

#รายงานโดย กลุ่มงานสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

Popular Post